
ปราบดา หยุ่น เกิดวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2516 เขาเป็นนักเขียนมากฝีมือ เคยได้รับรางวัลซีไรต์ จากเรื่อง ‘ความน่าจะเป็น’ ในปีพ.ศ. 2545 โดยปราบดาเป็นลูกชายของ นาย สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการชื่อดังของบริษัท Nation กับ นางนันทวัน หยุ่น อดีต บ.ก. นิตยสารลลนา เขามีชื่อเล่นที่หลายๆ คนอาจไม่คุ้นหูว่า ‘คุ่น’ เขาจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากนั้นจึงไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาจบปริญญาตรีจาก Cooper Union School for Advancemet of Science and Art ปี พ.ศ. 2540 ก่อนที่จะมาเป็นนักเขียน ปราบดาได้ทำงานด้านการออกแบบกราฟิกอยู่ที่ Manhattan ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะกลับมาเกณฑ์ทหาร
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว เขาได้ทำงานเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสาร Nation สุดสัปดาห์ และมาเขียนบทให้กับรายการโทรทัศน์เรื่อง ‘ปมไหม’ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของ Jim thompson ผู้ผลิตผ้าไหมรายใหญ่ของประเทศไทย
ผลงานของเขามีมากมายหลายแนว เช่น บทภาพยนตร์เรื่อง เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ออกฉายในปีพ.ศ. 2546 คำพิพากษาของมหาสมุทร ออกฉายในปี พ.ศ. 2549 โดยปราบดาได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2545 เมื่อเขามีอายุได้ 29 ปี ต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปราบดา หยุ่น กับ วาด รวี ได้ออกมาเรียกร้องเรื่อง ‘ร่วมลงชื่อเพื่อแก้ไขมาตรา 112’ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสสังคมเป็นอย่างมาก
งานเขียนของเขาในยุคเฟื่องฟู มีทั้ง เรื่องสั้น , นวนิยาย และความเรียง มีเอกลักษณ์ คือ ความจัดจ้านของภาษารวมทั้งลีลาการจิกกัดอย่างมีชั้นเชิง
เขาเคยมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวทางด้านหนังสือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เป็นหุ้นส่วนผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ Bookmoby , เคยดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย เรียกได้ว่ามีประสบการณ์อันโชกโชนและเหนียวแน่นมาก สำหรับในปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่นและไต้ฝุ่นสตูดิโอ ที่กำลังทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ในการทำงานกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 2 โดยภาพยนตร์เรื่องแรก คือ Motel Mist ถ้าพูดถึงเรื่องรางวัลที่เขาเคยได้รับ เขาเคยพูดเรื่องนี้เอาไว้ว่า ‘หนักใจกับการได้ทุกรางวัล เพราะไม่ได้ยึดติดกับคำว่ารางวัลมาก แม้แต่ผลงานที่ชอบหรือคนที่ติดตามผลงานอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ได้สนใจว่าเขาได้รางวัลอะไรมาบ้าง ในฐานะคนทำงาน เขาก็อยากให้คนอ่านหนังสือเพราะสัมผัสได้กับคุณค่าบางอย่างในงานมากกว่า โดยคำว่ารางวัลในทัศนะของเขามันมาพร้อมกับมายาคติบางอย่าง ต้องกลายเป็นคนที่น่ายกย่องเชิดชู แต่ความจริงๆ แล้ว รางวัลก็มาจากการตัดสินโดยกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น’