
อังคาร กัลป์ยาณพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 เสียชีวิต วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ท่านเป็นทั้งกวีและจิตรกร ท่านเกิด ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช อังคารได้ศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรม, ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อังคารเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับ ในฐานะจิตรกรและกวีความสามารถชั้นครู ท่านเป็นกวีที่มีความโดดเด่นเอกลักษณ์ ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ นอกจากนี้ท่านยังเป็นกวีที่มีความคิดอิสระ ไม่ถูกกำหนดด้วยรูปแบบอันตายตัว ท่านจึงจัดเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่
ท่านเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังศึกษาจบจาก โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ท่านจึงได้มาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง ตามด้วยมหาวิทยาลัยศิลปากร จนได้กลายมาเป็นลูกศิษย์ของศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง ศ.ศิลป์ พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ นักกวีและจิตรกรนั้นเป็นสิ่งที่ท่านฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านมีความรักใน 2 วิชานี้อย่างสุดซึ้ง ท่านยึดหลักว่าในการจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ดี จะต้องมีอารมณ์จดจ่ออยู่กับงานด้วย
ส่วนงานด้านจิตรกรรมนั้น ท่านก็เรียนวิชาศิลปะได้คะแนนยอดเยี่ยมมาโดยตลอด จนถึงขนาดได้รับคำยกย่องจากคุณครูโดยเขียนลงในสมุดประจำตัวว่า เป็นผู้มีใจรักในวิชาวาดเขียน โดยตัวเองเขาเองมองว่าการวาดเขียน ถึงแม้จะไม่ได้เงินทองอะไรมากมายนัก แต่ก็มีประโยชน์ทางวิญญาณ คือ พัฒนาให้จิตวิญญาณของมนุษย์ดีขึ้น
นอกจากนี้อังคาร ยังให้ข้อคิดในการทำงานว่า เปรียบได้ดั่งการเจริญเติบโตของต้นไม้ต้นหนึ่ง ที่มันค่อยๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกหน่อไปเรื่อยๆ เมื่อถึงฤดูกาลตามเวลาก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกก่อนไปตามลำดับ ก็เหมือนกับการทำงานที่จะต้องพัฒนาฝีมือเป็นขั้นตอนไป พร้อมกับยืนยันด้วยความหนักแน่นว่าจะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานที่รักทั้ง 2 อย่างแม้แต่ชาติหน้า ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หรืองานเขียนบทกวี ความเป็นกวีของท่าน เกิดจากการซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ จากการฝึกหัดแต่งกลอน อันผสมผสานกับพรสวรรค์ที่มีอยู่ นอกจากนี้ อังคารยังมีมุมมองตลอดจนแง่คิดในการใช้ชีวิตอันอิสรเสรี จึงทำให้บทกวีของท่าน มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ไม่มีรูปแบบตายตัวมากำหนด เป็นผู้แสวงหาแนวทางกวีใหม่ของตนเอง สำหรับผลงานชิ้นแรกๆ ของท่านได้ปรากฏอยู่ในหนังสือ ‘อนุสรณ์น้องใหม่’ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งได้พบกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้ง ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ จึงทำให้บทกวีของท่าน ได้พิมพ์เผยแพร่ออกไปในสังคม สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการวรรณกรรมไทย